ตั้งอยู่ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคกเป็นวัดในเขตชุมชนรามัญ ตั้งอยู่ติดกับปากคลองและโรงกรองน้ำประปาและคลองประปา ซึ่งขุดข ...
ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่และเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชั้นวรวิหาร เดิม ...
ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมืองปทุมธานี ภายในวัดมีสิ่งสำคัญคือพระวิหารเก่า มีงานปูนปั้นอย่างชาวจีนปรากฎอยู่ที่หน้าบั ...
ตั้งอยู่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณคลองห้า ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี ห่างจากตลาดรังสิต ๑๓ กิโลเมตร ตามเส้นทางรังสิ ...

ท่องเที่ยววิถีชุมชน สายน้ำเจ้าพระยา ปทุมธานี – นนทบุรี

โครงการการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชน สายน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี – นนทบุรี 
    ( เดินทาง เสาร์-อาทิตย์  ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2562 - 11 สิงหาคม 2562 ) 

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน คลิ๊ก

เวลา ๐๗.๐๐ น.           ลงทะเบียนที่บริเวณท่าเรือเทศบาลเมืองปทุมธานี

จุดที่ ๑  เที่ยวชมตลาดปทุมธานี ที่เป็นตลาดเก่าแก่ของเมืองปทุมธานี มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี (ตลาดเช้า) และเดินเที่ยวชมหมู่อาคารประวัติศาสตร์ ที่ทำการศาล (หลังเก่า) สมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งจะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดปทุมธานีอีกแห่ง อาคารที่ว่าการอำเภอเมืองหลังเก่า บริเวณถนนเทศปทุม และ  อาคารสุขศาลา (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี)

(มีรถสามล้อบริการแก่นักท่องเที่ยว ตั้งแต่ ๐๗.๐๐ น.)

จุดที่ ๒  หอนิทรรศน์ปทุมธานี เป็นอาคารที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดปทุมธานี ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์                    ที่ทันสมัย

จุดที่ ๓   แพขาวเป็นอาคารริมน้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดปทุมธานี โดยเป็นสถานที่ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และ รัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จมาทอดพระเนตรการแข่งเรือ และเยี่ยมเยียนราษฎร เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

 

เวลา ๐๙.๐๐ น.    ออกเดินทางสู่ท่าเรือตลาดริมน้ำวัดศาลเจ้า - วัดมะขาม

จุดที่ ๔ วัดมะขาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออก ในท้องที่ หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พุทธศักราช ๒๑๗๐ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาสถานที่สำคัญภายในวัด ประกอบด้วย โบสถ์ท้องสำเภา เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง หน้าบันไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ และภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในศาลาการเปรียญ วิหารพระนอน

จุดที่ ๕  วัดศาลเจ้า และ ตลาดริมน้ำวัดศาลเจ้า

วัดศาลเจ้า เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของเมืองปทุม อาณาเขตติดต่อกับวัดมะขาม เนื่องจากตั้งอยู่ปากคลองศาลเจ้า จึงตั้งชื่อวัดตามทำเลที่ตั้งที่วัดแห่งนี้นอกจากจะมี พระอุโบสถที่งดงาม รวมถึงเสนาสนะต่างๆ ดังเช่นวัดทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ศาลเซียนแปะ หรือ “แปะ โรงสี” ฆราวาสผู้เรืองวิทยาคม จนเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้ว่า ในทุกๆวันจะมีประชาชนจากทุกสารทิศเดินทางมากราบไหว้ขอพร “แปะ โรงสี “กันอย่างเนืองแน่น “แปะ โรงสี” ได้รับการยกย่องว่าเป็นเซียน ให้คุณในเรื่องโชคลาภ และ การทำมาค้าขาย

วัดศาลเจ้า ยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ของจังหวัดปทุมธานี เพื่อนำไปประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก เนื่องในพระราชพิธี   บรมราชาภิเษก  บริเวณ แม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดศาลเจ้า ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

ตลาดริมวัดศาลเจ้า นับว่าเป็นแหล่งรวมอาหารนานชนิดทั้งคาวหวาน ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ เลือกรับประทานได้หลากหลาย

เวลา ๑๐.๐๐ น. ออกเดินทางสู่ท่าเรือวัดบางหลวง

จุดที่ ๖  วัดบางหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางหลวง วัดมีสิ่งที่สำคัญคือ พระอุโบสถทรงไทยโบราณ ภายในมีพระประธาน หลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปปางมารวิชัย และภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์มอญ ๒ องค์ คือ ทรงชเวดากอง และ มุเตา มีสะพานโค้งและศาลาที่สร้างด้วยศิลปกรรมแบบยุโรป ซึ่งวัดนี้ใช้ประกอบศาสนพิธีของชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระปทุมธรรมราช ซึ่งเป็นพระประจำจังหวัดปทุมธานี

เวลา ๑๑.๐๐ น.ออกเดินทางจากวัดบางหลวง - ท่าเรือวัดชินวรารามวรวิหาร

จุดที่ ๗  วัดชินวรารามวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ เดิมชื่อวัดมะขามใต้ บริเวณรอบพระอารามกว้างขวาง ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดกที่งดงาม พร้อมคำบรรยายเป็นโคลงสี่สุภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าสิบทิศ นอกจากนี้ยังมี สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น โบสถ์พระพุทธชินวร (หลวงพ่อทองคำ) สมัยสุโขทัย อัญเชิญมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ พระวิหารพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐ พระตำหนักชินวรสิริวัฒน์ ที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ.๒๔๗๕ มณฑปใหม่ที่สร้างขึ้นจากโครงสร้างเดิมที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ ภายในมณฑปนี้  ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองเพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้ด้วย หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำฯลฯ วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้าอดีตเจ้าอาวาสราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม

จุดที่ ๘  วัดเจตวงศ์ (วัดร้าง) อยู่ใกล้กับวัดชินวรารามวรวิหาร ตำบลบางขะแยง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน ขนาดเล็ก มีช่องประตูเดียวแบบโบสถ์มหาอุต และหน้าต่าง  ข้างละ ๓ ช่อง  หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษามีเทพพนมอยู่ตรงกลาง พาไลชายคาปีกนกยื่นมาด้านหน้ากันฝน ผนังก่ออิฐ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยบนฐานชุกชี ตกแต่งลวดลายปูนปั้นประดับกระจก ลดหลั่นลงมาเป็นพระอันดับซ้ายขวา ๒ องค์ และภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติตั้งแต่ครั้งอดีตที่มีความสวยงามและควรค่าแก่การศึกษา ด้านหน้ามีเจดีย์เก่า ๓ องค์ โดยรอบมีฐานเสมาอยู่ทั้ง ๘ ทิศ กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ และปี พ.ศ. ๒๕๕๑  ได้ทำการบูรณะอุโบสถควบคู่กับอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง

เวลา ๑๑.๔๕ น. ออกจากวัดชินวรารามวรวิหารเกาะเกร็ด (ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาส)

จุดที่ ๙  วัดปรมัยยิกาวาส เดิมชื่อ "วัดปากอ่าว " มีชื่อในภาษามอญว่า " เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง " หมายความว่า วัดหัวแหลม เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฏพระเจดีย์มุเตาซึ่งเป็นเจดีย์ทรงมอญ ปัจจุบันอยู่ติดริมแม่น้ำกระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง อันเป็นสัญลักษณ์ของวัดมาแต่โบราณ ต่อมาสมัยธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีชาวมอญ ที่อพยพเข้ามาตั้งบ้าน เรือนที่เกาะมากขึ้น วัดแห่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางของชุมชน และสถานที่จัดงานประเพณีพิธีกรรมของชาว มอญบนเกาะเกร็ด ภายในวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย

จุดที่ ๑๐ วัดไผ่ล้อม เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อาจจะเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งบนเกาะเกร็ด แต่สภาพได้เป็นวัดร้างไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๐๘ เพราะพม่าเข้าตีและยึดเมืองนนทบุรี ก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ จึงไม่มีพระสงฆ์และชาวบ้านดูแลวัด ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ได้มีคนมอญมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ วัดไผ่ล้อม จึงมีพระสงฆ์อยู่ประจำวัดสืบมา แต่วัดมีสภาพทรุดโทรมมาก เพราะถูกทิ้งร้างมานาน อำแดงแตนได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ อุโบสถ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ที่ตั้งวัดไผ่ล้อมอยู่กลางระหว่าง วัดมอญอีก ๒ วัด คือวัดปรมัยยิกาวาส และ วัดเสาธงทอง คนมอญจึงเรียกวัดไผ่ล้อมในภาษามอญว่า เภี่ยะโต้ แปลว่าวัดกลาง

จุดที่ ๑๑  แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด (บ้านป้าตุ่ม) เป็นสถานที่เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากการใช้ดินมาปั้นเป็นภาชนะรูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะเอกลักษณ์การปั้นภาชนะในชื่อ หม้อลายวิจิตร ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนนทบุรี   การทำเครื่องปั้นดินเผา มีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันนับเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สำคัญของจังหวัดนนทบุรี

จุดที่ ๑๒ วัดเสาธงทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกร็ด เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ วัดสวนหมาก ตามประวัติเมื่อได้สร้างวัดขึ้นต้นหมากก็ถูกตัดจนหมด จนกระทั่งถึงปลายรัชกาลที่ ๔ เจ้าจอมมารดาอำภา ซึ่งเป็นเจ้าจอมในสมัยรัชกาลที่ ๒ พร้อมด้วยกรมหมื่นภูบาลกรมขุนวรจักรกรีได้เสด็จมาและได้บูรณะวัดซึ่งกำลัง ทรุดโทรมและทรงเห็นว่า ต้นหมากก็หมดไปแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดเสาธงทอง คนมอญเรียก วัดนี้ว่า เพ๊ยะอาล๊าต ในสมัยอยุธยาเรียกว่า วัดสวนหมาก

 

เวลา ๑๔.๓๐ น.  ออกเดินทางจากท่าเรือวัดเสาธงทอง - วัดกู้

จุดที่ ๑๓   วัดกู้ เดิมชื่อวัดท่าสอน เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรม ราชเทวี พระอัครพระมเหสีในรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสบางปะอินทางชลมารคได้ประสบอุบัติเหตุ เรือพระที่นั่งล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้วัด เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ และสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์โสภางคทัศนียลักษณ์ อรรควรราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าในพระครรภ์ จึงมีการกู้พระศพและซากเรือขึ้นที่วัดนี้ และได้เปลี่ยนมาเรียกชื่อวัดว่า วัดกู้ นับแต่นั้นมา วัดนี้สร้างในสมัยอยุธยา เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรี่ย) หรือ เจ่ง คชเสนีย์ เป็นผู้บูรณะ วัดเป็นศิลปะแบบมอญ ภายในโบสถ์หลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบมอญ เป็นภาพเขียนสีน้ำมันเรื่องราวพุทธประวัติ มีวิหารเปิดโล่งประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ ยาว ๓๓ เมตร ด้านข้างวิหารเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่อับปางซึ่งชาวบ้านได้กู้ขึ้นมา และมีพระตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ มีศาลพระนางเรือล่ม ซึ่งจำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน

เวลา ๑๖.๐๐ น.   เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

*************************

(กำหนดการอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และกำหนดเวลาในระหว่างเดินทาง)

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน คลิ๊ก

 

ดาวโหลดเอกสารเกี่ยวข้อง

ไฟล์ดาวน์โหลด

pdf program-tour-chaophraya.pdf
-
โรงกษาปณ์ รังสิต มีเนื่อที่ประมาณ ๑๒๘ ไร่ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยการก่อสร้า ...
ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๓ ในการดูแลของสำนักงาน โ ...
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ตั้งอยู่ในเนื้อที่ 62 ไร่ ตำบลรังสิต ถนนรังสิต-นครนายก อำเภอธัญ ...