ประเพณีมอญรำ

Average rating
1 vote

มอญรำ เป็นการแสดงของชาวมอญมาแต่โบราณ ใช้แสดงในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานบวชนาค งานแต่งงานและงานฉลองอื่น ๆ ชาวมอญได้จัดเป็นประเพณีในราชการด้วยครั้นเมื่อชาวมอญอพยพเข้ามาในประเทศไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๒ ได้นำประเพณีการแสดงมอญรำเข้ามาประจำในหมู่มอญด้วยกันและการแสดงดังกล่าวนี้ได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

การแสดงมอญรำ จะต้องใช้ปี่พาทย์มอญประกอบรำและการร้องโดยทั่วไปชาวมอญมีนิสัยรักดนตรี และศิลปะการแสดงเช่น มอญรำ และทะแยมอญ ต่อมาทะแยมอญหาผู้แสดงได้ยาก ยังเหลืออยู่แต่มอญรำเท่านั้นที่ยังพอหาดูได้โดยเฉพาะในจังหวัดปทุมธานีการแสดงมอญรำยังนิยมใช้แสดงในงานต้อนรับแขกและงานศพผู้มีเกียรติซึ่งถือกันว่าเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวมอญ

เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงและรำเพลงแรกได้แก่เพลง ๑๒ภาษามีการรำประกอบ ๑๒ ท่าถ้าจะเทียบกับการรำไทยแล้วก็เท่ากับเป็นเพลงแม่บทต่อจากนั้นยังมีเพลงสมิงพระรามในตับราชาธิราช มีการรำประกอบร้องแสดงท่าประกอบตามเนื้อเพลง เช่น เพลงย่าเหล เพลงมอญดูดาว และเพลงอื่น ๆ อีกมากการร้องจะมีคนร้องเพียงคนเดียว นั่งอยู่กับปี่พาทย์ เมื่อร้องจบปี่พาทย์ก็รับบางเพลงก็คลอด้วยเสียงปี่ตามไปกับคนร้อง ส่วนผู้รำก็จะรำไปตามทำนองและเนื้อเพลงการร้องจะใช้ทำนองเพลงมอญ แต่เนื้อร้องเป็นภาษาไทย

การแสดงมอญรำใช้คนรำที่เป็นหญิงสาวจำนวนไม่น้อยกว่า ๘ ถึง ๑๒ คน ชุดแรกเป็นชุด ๑๒ภาษา จะรำหมดทั้งชุด ส่วนชุดต่อ ๆ ไปแล้วแต่เพลงบางเพลงก็ใช้คนรำเพียงสองคู่สลับกันไปเรื่อย ๆเพื่อรอการแต่งกายในชุดต่อไป

การแต่งกายของมอญรำในงานมงคลทั่ว ๆไปจะแต่งชุดสีสด ๆ ทั้งชุด เว้นแต่งานศพเท่านั้นจะแต่งชุดสีดำ สไบสีขาวส่วนการรำประกอบเพลงท่าอื่น ๆ แต่งกายตามเนื่อเรื่อง การแต่งกายรำชุดแรก ๑๒ ภาษาจะแต่งกายแบบรามัญ (มอญ) นุ่งผ้าซิ่นมีเชิง เสื้อแขนยาวทรงกระบอก คอกลมห่มผ้าสไบเฉียง เกล้าผมมวยรัดด้วยมะลิร้อย ทัดดอกไม้สดที่หูข้างเดียวสวมกำไลที่ข้อเท้า

ปี่พาทย์ที่ใช้ประกอบการรำมอญจะต้องใช้ปี่พาทย์มอญเครื่องคู่เป็นอย่างน้อย เครื่องคู่ได้แก่ ฆ้องมอญวงใหญ่ฆ้องมอญวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ปี่มอญ เปิงมางคอก โหม่งสามใบ ตะโพนมอญ ฉิ่งฉาบใหญ่ ฉาบเล็ก กรับ

ปัจจุบันการแสดงมอญรำไม่นิยมเฉพาะในหมู่ชาวรามัญเท่านั้นยังนิยมทั่วไปในหมู่คนไทยอีกด้วย โดยเฉพาะชาวจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงก็นิยมจ้างคณะมอญรำไปแสดงในงานศพ และงานต้อนรับแขกต่างเมืองอยู่เสมอ ฉะนั้นการแสดงมอญรำกับปี่พาทย์ที่ใช้ประกอบการรำจึงเป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่นิยมกันอย่างออกหน้าออกตาของชาวปทุมธานีและทำรายได้ดีอาชีพหนึ่ง

 


การรำมอญ ถือว่าเป็นศิลปะการแสดงของมอญ ซึ่งชาวมอญถือว่าเป็นเอกลักษณ์ แสดงออกถึงความอ่อนช้อย งดงามตามลีลาการร่ายรำของชาวมอญ การแสดงมอญรำนี้ เดิมทีนั้น เป็นการรำเพื่อแสดงออกซึ่งความเคารพ ความกตัญญูกตเวที จะนิยมแสดงในโอกาสต่าง ๆ ทั้งงานมงคลและอวมงคล การรำนั้นจะมีปี่พาทย์มอญเป็นเครื่องบรรเลง ผู้รำก็จะรำไปตามจังหวะหน้าทับตะโพนในแต่ละเพลงในแต่ละท่า (ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างกันในเรื่องของท่ารำ และมักจะเกิดเป็นข้อถกเถียงกันอยู่) ศิลปะการรำของมอญส่วนมากจะนิยมกระเถิบเท้า โดยจะไม่ย่างก้าวไปมา เพราะมอญถือว่าการรำที่ไม่ยกหรือไม่ก้าวเท้าดูแล้วเรียบร้อยและเคารพต่อสถานที่และงานนั้นด้วย การแต่งกายก็จะเรียบร้อย สสวยงาม หญิง นุ่งผ้าถุงยาวถึงข้อเท้า สรวมเสื้อแขนกระบอก พาดผ้าสะไบที่ไหล่ซ้าย เกล้าผมมวยประดับด้วยดอกไม้

 


การรำมอญ เริ่มจากปี่พาทย์เริ่มบรรเลงด้วยเพลงออก ผู้รำทั้งหมดจะเดินออกมาอย่างเรียบร้อยและอาจจะไหว้หรือกราบพระ ผู้ชม ปี่พาทย์ หรือถ้าเป็นงานศพก็จะกราบที่ศพด้วย แล้วยืนขึ้นเพื่อรอเข้าเพลงที่หนึ่ง ในทุก ๆ เพลง ผู้รำจะย่อตัวไปมาโดยยังไม่ตั้งมือก่อนเสมอ จากนั้นจึงจะตั้งมือไปตามเพลง และเมื่อจบเพลงผู้รำก็จะวางมือลงอย่างช้า ๆ ไว้ที่หน้าตัก เพื่อรอขึ้นเพลงต่อไป รำไปจนจบทั้ง ๑๒ เพลง (ทางปทุมธานี ใช้ท่ารำ ๑๓ ท่ารำ) แล้วผู้รำก็จะนั่งลงไหว้หรือกราบเหมือนตอนก่อนจะรำ

ประเพณีมอญรำ Image 1   ประเพณีมอญรำ Image 2   ประเพณีมอญรำ Image 3   ประเพณีมอญรำ Image 4